Live Life, Eat Well and Enjoy! Food เทคนิคถนอมอาหารไทยแบบโบราณ ทำเก็บกินได้นาน ทำขายส่งง่ายได้ทั่วประเทศ

เทคนิคถนอมอาหารไทยแบบโบราณ ทำเก็บกินได้นาน ทำขายส่งง่ายได้ทั่วประเทศ


เทคนิคถนอมอาหาร

ทุกท่านเคยสงสัยกันไหมว่า ในสมัยโบราณที่เทคโนโลยีและเครื่องมือเครื่องใช้ภายในครัวไม่ได้มีตัวเลือกมากมายเหมือนอย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน คนยุคนั้นเขามีวิธีการถนอมอาหารไทยอย่างไรเพื่อรักษารสชาติและคงคุณค่าทางโภชนาการเอาไว้สำหรับทานหรือเพื่อแบ่งปัน วันนี้เราจะพาทุกท่านมาดูกันถึง 6 เทคนิคที่คนสมัยก่อนใช้ถนอมอาหาร ไม่เพียงแค่นั้นเทคนิคทั้ง 6 นี้ยังสืบทอดมาจวบจนถึงปัจจุบัน เป็นเทคนิคที่ไม่เคยเก่า แถมยังมีประสิทธิภาพ ทำได้ง่าย ถนอมอาหารไว้ได้นาน ไม่ว่าจะเพื่อทานในบ้านหรือทำขายก็ตาม

6 เทคนิคที่ช่วยถนอมอาหารไทย ภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น

คนสมัยก่อนมีวิธีการถนอมอาหารไทยแยกย่อยออกเป็น 2 วิธีการหลักคือ วิธีแรกจะเก็บรักษาไว้ในสภาพที่คงความสด โดยใช้การวางหรือแขวนวัตถุดิบไว้ในที่ปลอดโปร่ง มีอากาศถ่ายเทสะดวก วัตถุดิบที่ใช้วิธีนี้ เช่น กระเทียม หอม พริก เป็นต้น วิธีที่สองคือ การถนอมอาหารด้วยการแปรรูป ซึ่งเราเลือกนำข้อมูลนี้มาแชร์ต่อ เป็นเทคนิคที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ โดยเทคนิคที่นิยมมีดังนี้

1. การตากแห้ง สมัยก่อนไม่มีเครื่องอบ วิธีที่จะลดความชื้นของตัววัตถุดิบคือการนำไปตากแดด วัตถุดิบที่ใช้กระบวนการนี้ เช่น กล้วยตาก หมูแดดเดียว ปลาตากแห้ง สำหรับเนื้อสัตว์จะนำมาแล่เป็นชิ้น จากนั้นคลุกด้วยเกลือ แล้วจึงนำออกมาผึ่งแดดให้แห้งทั่วทั้งชิ้น ถือว่าเป็นเทคนิคถนอมอาหารไทยที่ประหยัด แถมยังทำได้ง่ายอีกด้วย

2. การรมควัน เทคนิคนี้มักใช้ในการถนอมปลาสด วิธีการคือนำปลามาล้างทำความสะอาด เอาเครื่องในออก วางปลาบนตะแกรงเหนือกองไฟ ใช้ไฟอ่อน ๆ ครอบด้วยภาชนะที่สามารถรมควันปลาไว้ได้ เพื่อให้ควันติดตัวปลา หมั่นพลิกกลับไปมาให้เนื้อปลาสัมผัสความร้อนและควันอย่างทั่วถึง ปลาจะมีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ สีจะออกไปทางน้ำตาลอมเหลืองน่ารับประทาน

3. การเชื่อม มักใช้กับผลไม้ โดยความหวานจากน้ำเชื่อมจะเข้าไปยับยั้งการเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้ผลไม้ที่เชื่อมเก็บรักษาไว้ได้นาน วัตถุดิบที่เราคุ้นเคย เช่น มันเชื่อม ลูกตาลเชื่อม กล้วยเชื่อม เป็นต้น

4. การดอง เป็นการถนอมอาหารไทยโดยใช้น้ำเกลือเป็นหลัก เทคนิคนี้ใช้ได้กับทั้งผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ การหมักดองผักผลไม้ เช่น มะม่วงดอง ผักกาดดอง ส่วนการหมักดองเนื้อสัตว์ เช่น น้ำปลา ปูเค็ม แหนม ปลาร้า เป็นต้น

5. การแช่อิ่ม เทคนิคนี้มักใช้กับผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น มะม่วง มะขาม มะยม วิธีการคือใช้น้ำเชื่อมเป็นตัวหลักในการดึงน้ำของตัวผลไม้ออกมา ขณะเดียวกันน้ำเชื่อมก็จะซึมเข้าไปในเนื้อผลไม้แทนที่ ใช้เวลา 4-7 วัน ผลไม้แช่อิ่มจะมีรสหวานขึ้น ก่อนแช่อาจจะกำจัดความขมหรือความเปรี้ยวของผลไม้ออกก่อน โดยนำไปแช่ในน้ำปูนใสหรือน้ำเกลือ

6. การกวน เป็นเทคนิคถนอมผลไม้สุก เป็นวิธีการที่ใช้ความร้อนกวนน้ำตาลและเนื้อผลไม้ให้ผสมเป็นเนื้อเดียวกัน จะได้รสหวานเข้มข้น ผลไม้ที่นิยมนำมากวน เช่น ทุเรียน กล้วย สับปะรด เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าเทคนิคที่ได้กล่าวมาข้างต้น เป็นเทคนิคโบราณที่ไม่ซับซ้อน ทำตามได้ง่าย ๆ แม้ว่าจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีแต่ก็ถือได้ว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพไม่แพ้ใครเลย จึงทำให้อาหารไทยสามารถเก็บรักษาไว้ได้นานหากมีการถนอมด้วยวิธีที่เหมาะสม และวัตถุดิบแต่ละชนิดก็มีวิธีการแตกต่างกัน บางชนิดทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้บริโภค ประโยชน์ของการถนอมอาหารนอกจากจะช่วยให้แต่ละครัวเรือนเก็บวัตถุดิบไว้ทานได้นานแล้วยังสามารถทำเป็นอาชีพได้ โดยใช้ผัก ผลไม้ หรือเนื้อสัตว์ที่มีในท้องถิ่น นำมาผ่านกระบวนการถนอมอาหารแล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจัดส่งจำหน่ายได้โดยไม่ต้องกังวลว่าอาหารจะบูดเน่าอีกด้วย